ประวัติความเป็นมา
ตราสัญลักษณ์
ประวัติความเป็นมาของตำบลโพนทัน ( หมู่ที่ 1,2 และ 5 ) และประวัติพระธาตุเจ้าบุญสูง
ครั้งกะนั้น มีพระยาขอมองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “พระยาเอี่ยวตอง” มีถิ่นฐานแนวเขตอยู่ในเขาพระวิหาร ได้ยกไพร่พลนำก้อนอิฐ ก้อนหิน ทราย ศิลาแลง ใบสีมา เป็นบรรณาการเพื่อไปสมทบสร้างพระธาตุพนม ได้มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก และลัดเลาะไปทางที่โล่งแจ้ง เพื่อหนีสัตว์ร้ายแล้วยกพลขึ้นเหนือมาพักที่เนินแห่งหนึ่ง เพราะทิศตะวันตกมีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่า ”หนองสนม” ขณะเดียวกันก็มีกองทัพขอมฝ่ายใต้ คือ พระยาเอี่ยวทา ได้ยกพลนำอิฐหินศิลาแลงเพื่อไปสมทบสร้างพระธาตุพนมเช่นเดียวกัน มาพบกันที่บริเวณเนินดิน ที่พระยาเอี่ยวตองพักอยู่ ทั้งสองทัพจึงหยุดพักผ่อนเอาแรง 2-3 วันต่อมา ได้ทราบว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว ทั้งสองทัพจึงปรึกษากันแล้วนำอิฐหินศิลาแลงก่อเป็นพระธาตุไว้ ณ เนินดินแห่งนี้ (ปัจจุบันคือวัดโพนทัน หมู่ 5 ตำบลโพนทัน) โดยใช้เปลือกพงเป็นกาวยึดเกาะให้แน่นคนอายุ 66 ปี ขึ้นไป (คือคนที่เกิด พ.ศ. 2480 ลงไป) จะเห็นพระธาตุองค์เดิมสมัยนั้นเรียกพระธาตุว่า “พระเจ้าบุญสูง” ซึ่งมีความกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 8 เมตร รูปร่างคล้ายพานรัฐธรรมนูญภายในบรรจุแก้วแหวนเงินทองและของโบราณ
เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระยาขอมทั้งสองได้ลงคาถาอาคมไว้ดาบ 4 เล่ม และฝังไว้รอบ 4 ทิศ เพื่อป้องกันภูติผีปีศาจ และยกทัพกลับถิ่นฐานเดิม มีชนกลุ่มหนึ่งไม่กลับและสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณพระธาตุ และเรียกบ้านตนเอง ว่า ”บ้านดาบ” บางกลุ่มก็เรียกชื่อบ้านตนเอง ว่า “บ้านโพนทัน” เพราะเนินดินแห่งนี้ “ต้นทัน” (ต้นพุทรา) ใหญ่มากมาย บางกลุ่มเรียกว่า “บ้านพลทัน” เพราะ 2 ทัพมาทันกัน (มาพบกัน) ณ เนินดินแห่งนี้ต่อมาเรียกว่า “พลทัน” เป็น “โพนทัน” โดยมีภาษาที่ใช้เป็นภาษาอีสาน
ประมาณปี พ.ศ.2542 ประชาชนจำนวนหนึ่งเกิดโรคเรื้อน ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า โรคขี้ทูด เป็นที่รังเกียจของคนในหมู่บ้านโพนทันอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐจึงได้อพยพคนป่วยออกจากหมู่บ้าน เพื่อทำการรักษาและป้องกันโรค จนกระทั่งรักษาหาย และกลับเข้าหมู่บ้านดังเดิม สถานที่ที่ทำการรักษาคนป่วย ดังกล่าวปัจจุบัน เรียกว่า “โนนขี้ทูด” อยู่ทางทิศเหนือของตำบล ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ได้ยกฐานะหมู่บ้านเป็นตำบลโพนทัน โดยมีหมู่บ้านในเขตการปกครอง จำนวน 5 หมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ พระธาตุองค์เดิมได้หักล้มครึ่งองค์ ไม่มีการบูรณะแต่อย่างใด ต่อมาปี พ.ศ. 2495 ได้บูรณะใหม่ โดยได้สร้างพระธาตุองค์ปัจจุบัน คล่อมใจกลางพระธาตุองค์เดิม
https://phonthan.go.th/about-us/history#sigProGalleriadcd6c7d285